ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ คือธงซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้เพื่อเป็นมิ่งขวัญประจำหน่วยกำลังของตำรวจหน่วยต่างๆ โดยมีลักษณะ การได้มา และมีความสำคัญเช่นเดียวกับธงไชยเฉลิมพลประจำหน่วยทหาร ซึ่งถือเป็นเสมือนเครื่องหมายแทนชาติ ศาสนา และองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจทั้งหลาย ได้ยึดเหนี่ยวเคารพเป็นมิ่งขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติ รวมถึงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ตำรวจไทยเป็นตำรวจในพระมหากษัตริย์ จักต้องปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอาณาประชาราษฎร์ต่างพระเนตรพระกรรณของพระมหากษัตริย์
      ธงชัยประจำหน่วยตำรวจที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ มีลักษณะและส่วนประกอบของธงรวมถึงการได้มา เช่นเดียวกันกับธงชัยเฉลิมพลของทหารทุกประการ โดยผืนธงชัย มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 70 เซนติเมตร ตรงกลางผืนธงมีตราแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชื่อหน่วยตำรวจที่ได้รับพระราชทานธง เช่น "โรงเรียนนายร้อยตำรวจ" เป็นไหมสีแดงริมสีขาวเป็นแถวโค้งโอบใต้ตราแผ่นดิน ผืนธงมุมด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยมีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีขาว รัศมีสีฟ้า ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีขาวกว้าง 2 เซนติเมตร
      สำหรับส่วนประกอบของธงนั้น ยอดคันธงเป็นรูปช้างสามเศียรภายใต้พระมหามงกุฎทำด้วยโลหะสีเงิน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่ทำพิธีแล้ว เรียกว่า "พระยอดธง" และบรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่9 คันธงมีขนาดกว้างเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร ยาว 2.43 เมตร คันธงระหว่างฐานช้างสามเศียรกับมุมบนของธง มีแถวธงชาติเป็นโบหูกระต่ายห้อยชายทั้งสอง ยาวเลยมุมธงด้านล่าง ปลายชายแถบทั้งสองเป็นครุย คันธงตอนที่ติดกับธงสักหลาดสีแดงต่อกับริมธงหุ้มรอบคันธง มีหมุดทำด้วยโลหะสีเงิน 35 หมุด หมุดที่ 1 เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่ 2 เป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่ 3 เป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่ 4 เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดต่อไปเป็นรูปเครื่องหมายตราแผ่นดินในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หมุดที่ 1 อยู่บนสุด หมุดต่อไปเรียงลงมาตามลำดับ
      วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2497 ;พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ณ ลานพระราชวังดุสิต พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกอง โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และ ภาค 8 (ตามหลักฐานข่าวในพระราชสำนักของสำนักราชเลขาธิการ ใช้คำว่า “ธงชัยเฉลิมพลประจำกอง โรงเรียนตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 3 และ ภาค 8”) ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท ทรงเรียกธงที่พระราชทานแก่ตำรวจนั้นว่า “ธงชัยประจำกอง” หลังจากนั้นเป็นต้นมา (ยังไม่มีหลักฐานว่าได้รับพระราชทานธงชัยประจำกองตำรวจหลังจากนั้นอีกเมื่อใด) ได้ปรากฏว่า ในการสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนของเหล่าข้าราชการตำรวจ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2550 ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน กรุงเทพฯ ได้เชิญธงชัยประจำกองของหน่วยตำรวจมากระทำพิธี เป็นจำนวนทั้งสิ้น 13 ธง ดังนี้
      ธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จำนวน 1 ธง
      ธงชัยประจำโรงเรียนพลตำรวจภูธรภาค 1-9 จำนวน 9 ธง
      ธงชัยประจำโรงเรียนพลตำรวจนครบาล จำนวน 1 ธง
      ธงชัยประจำกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จำนวน 1 ธง
      ธงชัยประจำกองกำกับการ 3 กองบังคับการกองตรวจ จำนวน 1 ธง
      รวมทั้งสิ้น 13 ธง
      ทั้งนี้ การปฏิบัติในการเชิญธง การทำความเคารพ และพิธีการอื่นๆเกี่ยวกับธงชัยประจำหน่วยตำรวจนั้น มีวิธีการปฏิบัติเช่นเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารทุกประการ ในส่วนของธงชัยประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จะมีการเชิญไปกระทำพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของนักเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องในวันตำรวจ 13 ตุลาคม ของทุกๆ ปีตลอดมา แม้ว่าธงชัยประจำหน่วยต่าง ๆของตำรวจจะมิได้ปรากฏอยู่ใน พ.ร.บ.ธง พ.ศ. 2522 แต่เมื่อพิจารณาถึงการได้รับพระราชทาน การพระราชพิธีตรึงหมุดธงโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความสำคัญของธง ลักษณะต่างๆ ของธง และเอกสารหลักฐานต่างๆ ของสำนักราชเลขาธิการที่เรียกธงดังกล่าวว่า “ธงชัยเฉลิมพล” มาโดยตลอด ก็ถือได้ว่า “ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ” ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกันกับธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารทุกประการ ตามหลักฐานของส่วนราชการต่างๆ ได้กล่าวถึงธงชัยประจำหน่วยตำรวจนี้ในชื่อต่างๆ ได้แก่ "ธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วยตำรวจ" "ธงชัยเฉลิมพลประจำกอง" "ธงชัยประจำกอง" “ธงประจำกอง” และ “ธงชัย” ซึ่งก็คือธงเดียวกันนั่นเอง ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ธงชัยประจำหน่วยตำรวจ