บทความทางวิชาการ
เรื่อง นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
โดย...พ.ต.ท.วิชาญ เครือรัตน์ อจ.(สบ 2) กลุ่มงานอาจารย์ ศฝร.ภ.8

          คำนำ
                  
บทความทางวิชาการเรื่อง นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนวิชา การปกครองของไทย ในหลักสูตรนักเรียนนายสิบตำรวจ และประกอบการศึกษาทั่วไป
                   หวังว่าบทความทางวิชาการเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการฝึกอบรมหลักสูตรนักเรียนนายสิบตำรวจ ตลอดจนผู้ที่สนใจเป็นอย่างยิ่ง ในส่วนของข้อบกพร่องหากเกิดขึ้นผู้เขียนขอน้อมรับเพื่อจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไปด้วยความยินดีอย่างยิ่ง
                   บทนำ
                  
นายกรัฐมนตรีเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร มีอำนาจหน้าที่สูงสุดในการบริหารประเทศ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการในการปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้า ประชาชนในประเทศอยู่อย่างสงบสุขเป็นไปตามหลักการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตยที่มีเป้าหมาย คือ การอยู่ดีมีสุขของประชาชน นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังเป็นข้าราชการ นั้นคือข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเป็นตำแหน่งหนึ่งที่สำคัญ เป็นตำแหน่งที่กุมชะตาประเทศ ดังนั้นคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีจึงมาความสำคัญด้วย ( มานิตย์ จุมปา : 291 ) ผู้เขียนจึงขอนำหลักเกณฑ์รายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ตลอดจนคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรายนามนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
                   การเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี
                  
สำหรับประเทศไทยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เสมอมาว่าพระมหากษัตริย์ทรงตั้งนายกรัฐมนตรีและกำหนดไว้ด้วยว่า ใครเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนรี1 ก่อนที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จะนำชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้า ฯ เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง รัฐธรรมนูญได้กำหนดเกี่ยวกับการพิจารณาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2 คือ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกตามมาตรา 127 ( ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ) การเสนอบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรรับรอง มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร การลงมติในกรณีเช่นว่านี้ให้กระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย
                  
ในกรณีที่พ้นกำหนดสามสิบวันแล้วไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ 3 คือ ในกรณีที่พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มาประชุมเป็นครั้งแรกแล้วไม่ปรากฏว่ามีบุคคลใดได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบให้ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ( คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ) ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรนำความขึ้นกราบบังคมทูลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลซึ่งได้คะแนนเสียงสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี
                   ผู้เขียนขอนำขั้นตอนการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 กันยายน 2551 สรุปดังนี้ วันที่ 17 กันยายน 2551 เวลา 09.30 น. นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนนายสมัคร สุนทรเวช ที่พ้นจากตำแหน่งไป โดยพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช มีมติจะเสนอชื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อถึงวาระการเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสัดส่วนพรรคพลังประชาชน ได้เสนอชื่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นนายกรัฐมนตรี ผลการลงคะแนนปรากฏว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ 298 คะแนน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ 163 คะแนน มีผู้งดออกเสียง 5 คน ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 466 คน โดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงถือว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับความเห็นชอบตามมติของสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของประเทศไทย
                   คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี
                  
รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไว้ 4 นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ( คณะรัฐมนตรี ) จึงมีสถานะเป็นรัฐมนตรี จะต้องมีคุณสมบัติ คือ
                   1. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
                   2. มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
                   3. สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
                   4. ไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
                   4.1 ติดยาเสพติดให้โทษ
                   4.2 เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
                   4.3 เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แก่
                   4.3.1 เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
                   4.3.2 อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
                   4.3.3 วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
                   4.4 ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
                   4.5 เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
                   4.6 เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
                   4.7 เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
                   4.8 เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
                   4.9 เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
                   4.10 เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
                   4.11 อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ( จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ )
                   4.12 เคยถูกวุฒิสภามีมติ ให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง
                   5. ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีก่อนได้รับการแต่งตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
                   6. ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปีนับถึงวันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
                   รายนามนายกรัฐมนตรีของไทย
                   ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 นับจนถึงปัจจุบัน ( พ.ศ. 2551 ) ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีรวม 26 คน มีคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 58 คณะ รายละเอียดดังนี้

รายนามนายกรัฐมนตรีของไทยและวาระในการดำรงตำแหน่ง
                   สรุป
                   นายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประเทศไทย ดังนั้นบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งต้องเป็นบุคคลที่มีความสำคัญสามารถนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา เทคโนโลยี เป็นต้น ตลอดจนนำพาประชาชนในประเทศให้อยู่ดีมีสุขทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาความขัดแย้งของกลุ่มบุคคลในสังคม หรือปัญหาอื่นๆ ที่ทำความเดือดร้อนให้กับประชาชน นายกรัฐมนตรีจะต้องเข้ามาแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าวให้สังคมอยู่อย่างสงบสุข ดังนั้นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมเพื่อนำพาประเทศชาติไปสู่การพัฒนา และชาชนอยู่กันอย่างสงบสุข สมดั่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชนและประเทศไทย
บรรณานุกรม
                   พระราชบัญญัติข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535.
                   มานิตย์ จุมปา. คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540. สำนักพิมพ์นิติธรรม. กรุงเทพมหานคร, 2546.
                   รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550.
                   สำนักนายกรัฐมนตรี. ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย, 2551.